ผ้าไหมภาคกลาง


Thai Central Silk.

ผ้าไทยภาคกลาง
ผ้าพื้นบ้านภาคกลาง
                ผ้าทอตามกรรมวิธีพื้นบ้านในบริเวณภาคกลาง ส่วนมากเป็นกลุ่มชนเผ่าไทที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามถิ่นต่างๆ ได้แก่ กลุ่มไทพวน ไทยวน ไทดำ เป็นต้น
                กลุ่มชนเชื้อสายไท-ลาว เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณภาคกลางด้วยสาเหตุทางการเมืองในอดีต และเข้ามาในช่วงเวลาที่ต่างกัน เช่น สมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๒๕) สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกกองทัพไปตีล้านช้าง(ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน) ได้กวาดต้อนชาวผู้ไทดำ ไททรงดำ ไทดำ หรือไทโซ่งที่เรียกกันทั่วไปว่า ลาวโซ่ง และชาวลาวอื่นๆ จากบริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเข้ามาเป็นจำนวนมาก บางส่วนไปตั้งถิ่นฐานอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ในภาคกลาง เช่น บางท้องถิ่นในจังหวัดสระบุรี นครนายก ลพบุรี ราชบุรี ชลบุรีและ จันทบุรี
                ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช(พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๕๒)  ยกทัพไปตีเมืองแกวและเมืองพวนที่แข็งข้อต่อเวียงจันทน์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์ได้ยกทัพไปปราบแล้วกวาดต้อนครอบครัวชาวพวนและไทดำหรือลาวโซ่งมากรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ให้ชาวลาวเหล่านั้นไปตั้งถิ่นฐานอยู่ตามหัวเมืองรอบนอก โดยเฉพาะชาวไทโซ่งนั้นได้ไปตั้งถิ่นฐานที่บริเวณอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาชาวไทโซ่งเหล่านี้ได้แยกย้ายกันไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณจังหวัดใกล้เคียง เช่น นครปฐมและสุพรรณบุรี
                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔) ส่งเจ้าพระยาราชสุภาวดีไปตีเวียงจันทน์แล้วอพยพครอบครัวชาวลาวมาไว้ที่ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี กำแพงเพชร ในรัชกาลนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมายกทัพขึ้นไปขับไล่ญวนที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตเมืองพวนและเมืองใกล้เคียงของลาว พร้อมกันนั้นได้กวาดต้อนครอบครัวชาวลาวเข้ามาไว้ที่บ้านหมี่ บ้านสนามแจง บ้านกล้วย บ้านหินปัก และหมู่บ้านอื่นๆ ในเขตอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี บ้านทับคล้อ วังหลุม ทุ่งโพธิ์ ตะพานหิน จังหวัดพิจิตร
                การอพยพกลุ่มไท-ลาวเข้ามาตั้งถิ่นฐานในท้องที่ต่างๆ ในบริเวณภาคกลาง เป็นเหตุให้กลุ่มชนเชื้อสายไท-ลาวกระจายไปอยู่ตามถิ่นต่างๆ เป็นจำนาวนมาก ซึ่งชุมชนเหล่านี้ส่วนมากยังคงทอผ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มตามแบบอย่างและขนบนิยมที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ แหล่งทอผ้าพื้นบ้านภาคกลางที่สำคัญได้แก่ กลุ่มทอผ้าเชื้อสายไทพวน บ้านหาดเสี้ยว บ้านหาดสูง บ้านใหม่ และบ้านแม่ราก ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอหาดเสี้ยว จังหวัดสุโขทัย ไทพวนบริเวณตำบลหาดเสี้ยวมาจากเมืองพวน ประเทศลาว ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บางกลุ่มได้แยกย้ายกันไปตั้งถิ่นฐานในบางท้องที่ของจังหวัดปราจีนบุรี มหาสารคาม สุพรรณบุรี เป็นต้น
                ผ้าหาดเสี้ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นที่สุดชนิดหนึ่งคือ ซิ่นตีนจก เป็นผ้าทอสำหรับนุ่งในโอกาสพิเศษ เช่น งานเทศกาลประจำปี งานประเพณี ซิ่นตีนจกมักจะทอด้วยฝ้ายหรือฝ้ายสลับไหมเป็นลายขวางลำตัว มีเชิงเป็นลวดลายซึ่งทอด้วยวิธีจก จึงเรียก ซิ่นตีนจก นิยมทอด้วยการคว่ำผ้าลง ลายที่ทอมักเป็นลายเรชาคณิตเป็นหลัก และเรียกชื่อลายต่างๆ กัน เช่น ลายสิบหกดอกตัด ลายแปดขอ ลายสี่ดอกตัด ลายเครือใหญ่ ลายดอกเครือน้อย ลายเหล่านี้มักเป็นลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มีลายเล็กๆ ย่อซ้อนอยู่ภายใน การสลับลายใช้การเรียงซ้อนกัน คั่นด้วยหน้ากระดานเป็นชั้นๆ สีที่ใช้นิยมวรรณสีร้อน เช่น สีแดงอมส้ม สีน้ำตาลปนเหลือง ลายเล็กๆ จะย่อเป็นชั้นๆ ลดลงไปเรื่อยๆ และมักสอดไส้ด้วยสีอ่อน ส่วนเชิงล่างสุดหรือสะเปามักเป็นพื้นสีแดง ตีนจกบ้านหาดเสี้ยวมีความประณีตสวยงาม และมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นเป็นของตนเองที่สืบทอดมาแต่โบราณ ลักษณะซิ่นตีนจกชาวไทพวนบ้านหาดเสี้ยวมีรูปแบบคล้ายกับซิ่นตีนจกของกลุ่มชนเชื้อสายไทพวนในท้องถิ่นอื่น เช่น ซิ่นตีนจกกลุ่มไทพวนในบริเวณจังหวัดพิจิตร อุทัยธานี นอกจากซิ่นตีนจกแล้ว ชาวไทพวนยังทอผ้าซิ่นสำหรับนุ่งอยู่บ้านและนุ่งทำงาน ซิ่นชนิดนี้จึงเป็นซิ่นฝ้ายทอด้วยลวดลายธรรมดา เชิงเป็นแถบสีดำหรือสีแดงอมส้ม

ผ้าซิ่นตีนจกบ้านหาดเสี้ยว

                ผ้าพื้นบ้านของกลุ่มไทพวนบ้านหาดเสี้ยวนอกเหนือจากทอซิ่นแล้ว ยังทอผ้าชนิดอื่นอีกหลายชนิด เช่น  ผ้าห่มนอน มักเป็นผ้าเนื้อหนาลายตารางอย่างผ้าขาวม้า ทอด้วยฝ้ายเป็นผืนสี่เหลี่ยมผืนผ้า หมอนผา หรือ หมอนขวาน และหมอนสี่เหลี่ยม ซึ่งมีลายขิดที่หน้าหมอนอย่างหมอนขิดของอีสาน ผ้าขาวม้า  ผ้าฝ้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้าลายตาสี่เหลี่ยม แต่ถ้าเป็นผ้ากราบจะมีลวดลายพิเศษ เป็นรูปสัตว์ที่เชิงผ้า เช่น รูปช้าง ม้า คนขี่ม้า ผ้าชนิดนี้แต่เดิมใช้ในพิธีแต่งงานแล้วเก็บไว้เพื่อเป็นสิริมงคล แต่ปัจจุบันประยุกต์เป็นผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าห่ม ผ้าห่มคลุมไหล่ขณะออกนอกบ้านไปวัดหรือไปงานพิธีต่างๆ มักทอด้วยฝ้าย ทอด้วยหูกหน้าแคบ จึงต้องใช้สองผืนต่อกันตรงกลาง ที่เชิงมีลายและปล่อยชายผ้าเป็นเส้นครุยแล้วทำเป็นเกลียว ย่าม ถุงใส่ของที่ทำจากผ้าฝ้ายทอมือที่ทอใช้ประจำบ้านกันทั่วไป นิยมทอด้วยฝ้ายสีขาวมีลายดำเป็นทางยาว มี ๓ ชนาดคือ ย่ามชนาดใหญ่ ใช้ใส่ผ้าและอุปกรณ์การทอผ้า มักแขวนประจำหูกหรือใส่ด้ายที่ยังไม่ได้ย้อม หรือใส่ผ้าที่ทอแล้วไปขาย อีกชนิดหนึ่งเป็นย่ามขนาดกลาง ใช้สะพายติดตัวเดินทาง และชนิดที่สามเป็นย่ามขนาดเล็ก คนชราใช้ใส่ของกระจุกกระจิกติดตัวไปวัด หรือไปร่วมในงานประเพณีต่างๆ



   ผ้าซิ่นตีนจกบ้านไร่


                ผ้าพื้นบ้านชาวไทพวนที่มีลักษณะพิเศษอีกชนิดหนึ่งคือ ผ้าห่มบ้านไร่ เป็นผ้าฝ้ายทอสลับกับไหมพรม นิยมทอหน้าแคบแล้วเพลาะสองผืนรวมกันเป็นผืนเดียว เชิงผ้าจะทอสีขาวแล้วคั่นลายจกด้วยไหมพรมสีสดๆ เป็นแถบเล็กๆสลับกับพื้นขาว ๒-๓ ช่อง ส่วนกลางผืนมักทอด้วยลายขิดไปจนเต็มผืน บางทีทอเป็นริ้วปิดทั้งซ้ายและขวา ลวดลายของเชิงผ้าอาจจะไม่เหมือนกันทั้งสองข้าง สุดเชิงมักปล่อยเป็นชายครุยเพื่อความสวยงาม
                นอกเหนือจากผ้าพื้นบ้านไทพวนในท้องถิ่นต่างๆ ของภาคกลางดังกล่าวแล้ว ในบริเวณภาคกลางยังมีผ้าทอมือของกลุ่มคนไทยเชื้อสายไทยวนหรือไทโยนก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีขนบประเพณีและวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับชาวไทยวนหรือคนเมืองในล้านนา เชื่อกันว่าไทยวนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคกลางนั้น ส่วนมากอพยพมาจากเมืองเชียงแสนในสมัยรัชกาลที่๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อให้พ้นจากอิทธิพลของพม่าที่มักเข้ามาตีเมืองเชียงแสนแล้วใช้เป็นที่สะสมเสบียงก่อนที่จะเข้ามารุกรานหัวเมืองทางเหนือของไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้อพยพชาวเมืองไทยวนอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี กลุ่มชาวไทยวนบริเวณอำเภอเมืองและอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
ผ้าลับแล



                นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาวไทยวนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในภาคกลางอีกหลายท้องถิ่น โดยเฉพาะชาวไทพวนที่ยังคงทอผ้าตามแบบประเพณีนิยมของตน ผ้าทอของกลุ่มทอผ้าในบริเวณอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิษฐ์ ที่เรียกกันว่า ผ้าลับแล โดยเฉพาะซิ่นตีนจกลับแลมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นคือ ตัวซิ่นนิยมทอเป็นลายขวางลำตัวหรือทอยกเป็นลายเล็กๆ หรือทอเป็นสีพื้นเรียบๆ เช่น สีเขียวลายริ้วดำ ตีนซิ่นนิยมทอเป็นลายจกกว้างหรือสูงขึ้นมามากกว่าซิ่นตีนจกบ้านหาดเสี้ยว และไม่นิยมปล่อยพื้นล่างสุดเป็นสีพื้น มักทอเป็นลายจกลงมาจนสุดเชิงผ้า สีของเชิงที่ลายจกมักเป็นสีใกล้เคียงกันแบบที่เรียกว่า สีเอกรงค์(monochrome) ซิ่นตีนจกลับแลเป็นซิ่นที่มีความประณีตสวยงาม ต่างจากซิ่นไทยวนบ้านเสาไห้ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ซิ่นไทยวนตำบลดอนแร่ ตำบลคูบัว อำเภอเมือง บ้างบางกระโด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
                กลุ่มทอผ้าชาวไทยวนราชบุรีได้แก่ กลุ่มทอผ้าตำบลคูบัว ตำบลดอนแร่ และกลุ่มทอผ้าบางกระโด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี การทอผ้าของกลุ่มชนเหล่านี้ ยังมีเอกลักษณ์ของผ้าไทยวนชัดเจน แต่ละกลุ่มอาจมีลวดลายเฉพาะที่เป็นรสนิยมของกลุ่มแตกต่างกันไป เช่น

ผ้าซิ่นตีนจกบ้านคูบัว

               ผ้าซิ่นตีนจกของกลุ่มคูบัว ส่วนที่เป็นตีนซิ่นนิยมใช้เส้นยืนสีดำเพื่อให้จกเป็นลายได้ชัดเจน มักใช้สีน้อยเพื่อเน้นลวดลายให้เด่นชัด ความกว้างของเชิงจกประมาณ ๙-๑๑ นิ้ว ลายที่นิยมทอเป็นลายพื้นบ้าน เช่น ลายดอกเซีย ลายโก้งเก้ง ลายนกคู่กินน้ำร่วมต้น
                ผ้าซิ่นตีนจกกลุ่มดอนแร่ แม้จะนิยมทอผ้าซิ่นตีนจกเช่นเดียวกันก็ตาม แต่รายละเอียดของลวดลายและสีสันจะต่างกับซิ่นตีนจกกลุ่มคูบัว ลวดลายคล้ายคลึงกัน แต่จะจกลายติดกันแน่น ทำให้ลายไม่ชัดเจน นิยมใช้สีดำและแดง มักทอเชิงจกกว้างประมาณ ๑๔-๑๕ นิ้ว ซี่งกว้างกว่าตีนจกกลุ่มคูบัว
                ผ้าซิ่นตีนจกกลุ่มหนองโพนิยมทอลายหงส์คู่กินน้ำร่วมต้น รูปแบบคล้ายคลึงกับกลุ่มคูบัว และมีลักษณะคล้ายกับซิ่นตีนจกของชาวไทยวนในล้านนามาก
                ผ้าทอไทยวนราชบุรีทั้ง ๓ กลุ่ม นอกจากจะทอผ้าซิ่นตีนจกแล้ว ยังทอผ้าชนิดอื่นด้วย เช่น ผ้าซิ่นสำหรับใช้สอยประจำวัน ได้แก่ ซิ่นแหล้ หรือซิ่นสีกรมท่าที่ใช้นุ่งอยู่กับบ้าน ซิ่นตา สำหรับหญิงสาวนุ่งออกงาน ผ้าเบี่ยง สำหรับคลุมไหล่ นอกจากนี้ก็มีผ้าขาวม้า ผ้าลายต่างๆ
                กลุ่มชนเชื้อสายไท-ลาว เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณภาคกลางอีกลุ่มหนึ่งคือ ไทดำหรือไทโซ่ง   ซี่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นในบริเวณภาคอีสานและภาคกลางหลายระลอก ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี โดยเฉพาะในภาคกลางนั้นส่วนมากจะตั้งถิ่นฐานในหลายท้องถิ่นในจังหวัดใกล้เคียง เช่น บริเวณอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
เสื้อก้อม


เสื้อฮี

                เครื่องแต่งกายของชาวไทโซ่งทั้งหญิงและชายนิยมผ้าสีดำ สีกรมท่า และสีคราม โดยเฉพาะผ้านุ่งสตรีหรือซิ่นเป็นผ้าสีกรมท่า มีริ้วเป็นทางขนานกับลำตัวแบบที่เรียกว่า ลายชะโด หรือ ลายแตงโม ส่วนเสื้อที่ใช้สวมในงานพิธีต่างๆ มักเป็นเสื้อสีดำหรือสีกรมท่า เช่น เสื้อก้อม ส้วงก้อม ส้วงฮี และเสื้อต๊ก เสื้อผ้าฝ้ายสีขาวที่ยังไม่ได้ย้อมใช้สวมเมื่อพ่อแม่ถึงแก่กรรม เสื้อฮี เสื้อชนิดนี้จะใช้ผ้าไหมสีสดๆ เย็บตกแต่งเป็นลวดลายที่คอเสื้อและใต้แขน แต่ส่วนมากจะตกแต่งไว้ด้านในของเสื้อ การสวมเสื้อกลับเอาด้านในออกให้เห็นสีสันที่สวยงามเฉพาะงานสำคัญจริงๆ เช่น งานศพของญาติที่ใกล้ชิดกัน นอกจากนี้ยังมีย่ามและกระเป๋าผู้ชายไทดำที่มีรูปแบบและสีสันสวยงาม
                การทอผ้าใช้เองในกลุ่มไทโซ่งในปัจจุบันจะมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการทอผ้าไหมที่ได้
จากการเลี้ยงไหมในครอบครัว เพื่อใช้เส้นใยมาทอเป็นผ้าไหมสีสดๆเอาไว้ตกแต่งเสื้อดังกล่าวแล้ว ส่วนการทอผ้าชนิดอื่นก็ยังมีทออยู่บ้าง แต่ส่วนมากจะใช้ด้ายสำเร็จรูป ลวดลายและสีสันของผ้าก็จะเป็นไปตามความนิยมของตลาด

                ผ้าทอพื้นบ้านภาคกลางเคยมีทอกันในหลายท้องถิ่น แต่เมื่อระบบอุตสาหกรรมเข้ามาแทนการทอผ้าด้วยมือ การทอผ้าพื้นบ้านหลายแห่งจึงสูญสลายไป แม้บางแห่งจะยังคงทอกันอยู่บ้าง แต่รูปแบบก็มักเปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้บริโภค เช่น ผ้าทอมือที่บ้านอ่างหินหรืออ่างศิลา เคยเป็นแหล่งทอผ้าสำคัญของภาคตะวันออก ซึ่งทอทั้งผ้าไหม ผ้าม่วง ผ้าตาสมุกที่มีคุณภาพดี แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียงการทอผ้าซิ่นและผ้าขาวม้าธรรมดา

Thank everybody