ผ้าไหมภาคเหนือ


Thai Silk north

ผ้าไทยภาคเหนือ
ผ้าพื้นบ้านภาคเหนือ 
                ผ้าที่ทอในบริเวณภาคเหนือหรือล้านนา ปัจจุบันคือบริเวณภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน จนถึงดินแดนบางส่วนของประเทศพม่า ประเทศจีน และประเทศลาว
                ดินแดนในบริเวณล้านนาประกอบด้วยเนินเขาและที่ราบ หรือที่เรียกว่า บริเวณเชิงเขาหิมาลัย ประกอบด้วยยูนานทางตะวันตกของประเทศจีน รัฐฉานของประเทศพม่า หลวงพระบาง เวียงจันทน์ ในประเทศลาว และบริเวณภาคเหนือตอนบนในปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริเวณดังกล่าวนี้เป็นถิ่นที่อยู่ของประชากรหลายชาติพันธุ์ แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ต่างก็มีการจัดองค์กรทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง มีความเชื่อทางศาสนา มีวัฒนธรรมและสังคมเป็นของตัวเอง
                บริเวณภาคเหนือประกอบด้วยเนินเขาและที่ราบคล้ายอ่างที่อุดมสมบูรณ์และเหมาะสมกับคตินิยมในการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนไท-ลาวมาแต่โบราณ โดยเฉพาะชาวโยนกหรือชาวไทยวน ชนกลุ่มใหญ่ที่มีความเชื่อเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐาน ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมที่เป็นภูเขา ทางน้ำไหล และการเลือกทิศทางซึ่งเป็นคติความเชื่อที่สืบทอดกันมาแต่สมัยพญามังราย ความเชื่อนี้อาจได้รับอิทธิพลมาจากจีนยุคแรกๆ ความเชื่อเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานในสภาพแวดล้อมที่เป็นเขาล้อมและมีธารน้ำไหลนี้ ยังปรากฏในกลุ่มชนไทยวนหลายกลุ่มที่เคลื่อนย้ายไปยังภูมิภาคอื่นด้วย
                ในบริเวณนี้มีความเชื่อกันว่าเป็นที่อยู่ของมนุษย์เผ่าพันธุ์ต่างๆ มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยที่ชาวไทยวน ไทลื้อ และลาว เข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อราวพ.ศ. ๑๖๐๐ โดยมาเป็นกลุ่มเล็กๆ ก่อน แล้วขยายตัวขึ้นเป็นลำดับ ผู้คนเหล่านี้เข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณทิศเหนือของเมืองลำพูน คนไท-ลาวเข้ามาอาศัยรวมกันเป็นหมู่บ้านใหญ่หลายๆ หมู่บ้าน มีผู้นำกษัตริย์เป็นประมุขร่วมกัน ดินแดนนี้อาจจะเป็นที่อยู่ของมอญและลัวมาก่อนที่คนไท-ลาวจะเข้ามาตั้งถิ่นฐาน
                กลุ่มคนไท-ลาว ตามตำนานเรียกว่า ลาว ที่สืบเชื้อสายมาจากจักรหรือลาวจง ซึ่งเป็นกษัตริย์ของราชวงศ์ลาว และกษัตริย์ที่สืบต่อมาล้วนเป็นเชื้อสายจากลาวจงทั้งสิ้น จึงใช้คำนำหน้าพระนามว่าลาวเสมอ เช่นเรียกว่า พญาลาวครองเมืองเชียงราวหรือเมืองลาว พญาลาวเจื๋องหรือขุนเจื๋อง (มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในประเทศลาวและภาคอีสานของไทย) จนถึงพญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายก็สืบเชื้อสายมาจากลาวจง
                ต่อมาคำว่า “ลาว” และ “เมืองลาว” ค่อยๆ เลิกใช้ไปตามตำนานเมืองเชียงใหม่ ปรากฏว่าพญามังราย กษัตริย์พระองค์แรกที่ไม่ใช้คำว่า “ลาว” นำหน้าพระนามเรียกว่า พญามังราย แต่บางครั้งเรียกว่า พญาลาว พระบิดาของพญามังรายทรงพระนามว่า พญาเม็ง หรือลาวเม็ง ส่วนเมืองลาวนั้นต่อมาเรียกว่า โยนรัฏฐ์ หรือโยนก เรียกประชาชนว่า โยน-ยวน-ยูน หลังจากที่สร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว เรียกดินแดนเชียงใหม่ ลำพูนว่า พิงครัฏฐ์ และเรียกคนไทยในพิงครัฏฐ์ว่า ยวน ส่วนคำว่า “ลาว” นั้น ปัจจุบันใช้เรียกประชาชนในประเทศลาว และใช้เรียกคนไทยกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในภาคอีสานที่มีเชื้อสายลาวเท่านั้น
                พญามังรายหรือพระเจ้าเม็งราย ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์มังราย ผู้รวบรวมอาณาจักรล้านนาเข้าด้วยกัน แล้วสร้างเมืองเชียงใหม่หรือนพบุรีศรีนครงพิงค์เชียงใหม่ขึ้นเป็นราชธานี มีพระชนมายุอยู่ประมาณ พ.ศ. ๑๗๘๑ ถึงพ.ศ. ๑๘๐๐ สวรรคตเมื่อมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ต่อมามีกษัตริย์ปกครองเชียงใหม่อีก ๕ พระองค์ พระเจ้ามงกุฎสุทธิวงศ์เป็นกษัตรยิ์องค์สุดท้าย อาณาจักรล้านนาจึงตกอยู่ในปกครองของพม่า ทำให้อาณาจักรล้านนาที่เคยรุ่งเรืองมาช้านานต้องล่มลงเป็นเวลาเกือบ ๒๐๐ ปี จนถึงพ.ศ. ๒๓๓๙ พระเจ้ากาวิละ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์กาวิละจึงได้ตั้งเมืองเชียงใหม่ขึ้นเป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนาอีกครั้งหนึ่ง และมีกษัตริย์ปกครองต่อมาอีก ๙ พระองค์ จนถึงสมัยของพระเจ้าแก้วนรัฐ ล้านนาก็ถูกรวมเขเอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศสยาม และรวมเข้าเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน
                จากประวัติศาสตร์และลักษณะภูมิประเทศดังกล่าว ทำให้ภาคเหนือเป็นดินแดนที่มีขนบประเพณี วัฒนธรรมเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มไทยวนหรือโยนก ปัจจุบันเรียกตนเองว่า “คนเมือง” แต่เดิมมักเรียก “ลาวพุงดำ” เพราะนิยมสักลายตามบริเวณต้นขาและหน้าท้อง ไทยวนเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ไทลื้อเป็นอีกกลุ่มชนหนึ่งที่มีจำนวนมากรองจากไทยวน ไทลื้อตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา และน่าน นอกจากนี้ยังมีชนกลุ่มน้อย เช่น ลัวะ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ มอญ ตลอดไปจนถึงชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ เช่น แม้ว มูเซอ อีก้อ เย้า ลีซอ กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ของภาคเหนือ

(กลุ่มคนไทยวน)

(กลุ่มคนไทลื้อ)
                กลุ่มคนไทยวนในอดีตมีวัฒนธรรมการใช้ผ้าเป็นของตนเอง ตั้งแต่การทอ การสร้างลวดลาย จนถึงการนุ่งห่ม เช่น ผู้ชายจะนุ่งหยักรั้งจนถึงโคนขาเพื่ออวดลายสักตั้งแต่เหนือเข่าขึ้นไปจนถึงโคนขา ไม่สวมเสื้อแต่มีผ้าห้อยไหล่ ชนชั้นสูงจะสวมเสื้อ มีผ้าพันเอง ผู้หญิงนุ่งซิ่นลายขวางลำตัว มีเชิงเป็นลวดลาย ไม่สวมเสื้อแต่มีผ้ารัดอก มักเกล้าผมมวยไว้กลางศีรษะแล้วปักปิ่นหรือเสียบดอกไม้ การแต่งกายเช่นนี้ยังปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังวิหารหลายแห่ง เช่น จิตรกรรมฝาผนังวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ตำบลพระสิงห์ เขียนเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๐๖ จิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดบวกครกหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เขียนเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕
                ผ้าพื้นบ้านภาคเหนือที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่สุดคือ ผ้าไทยวน ผ้าไทลื้อ ผ้าของกลุ่มชนทั้งสอง ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องนอน และเครื่องบูชาตามความเชื่อที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะผ้าซิ่น ผ้านุ่งผู้หญิงของกลุ่มไทยวนและไทลื้อมีส่วนประกอบคล้ายคลึงกัน แบ่งเป็น ๓ ส่วน ได้แก่
(ซิ่นไทยวน อำเภอแม่แจ่ม)

                -หัวซิ่น ส่วนที่อยู่ติดกับเอว มักใช้ผ้าพื้นสีขาว สีแดง หรือสีดำต่อกับตัวซิ่นเพื่อให้ซิ่นยาวพอดีกับความสูงของผู้นุ่ง และช่วยให้ใช้ได้คงทน เพราะเป็นชายพกต้องขมวดเหน็บเอวบ่อยๆ
                -ตัวซิ่น   ส่วนกลางของซิ่น กว้างตามความกว้างของฟืม ทำให้ลายผ้าขวางลำตัว มักทอเป็นริ้วๆ มีสีต่างๆ กัน เช่น ริ้วเหลืองพื้นดำ หรือทอยกเป็นตาสีเหลี่ยม หรือทอเป็นลายเล็กๆ
                -ตีนซิ่น ส่วนล่างสุด อาจเป็นสีแดง สีดำ หรือทอลายจกเรียก ซิ่นตีนจก ชาวไทยวนนิยมทอตีนจกแคบ เช่น ซิ่นตีนจกแม่แจ่ม บริเวณอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มักทอลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดอยู่ตรงกลาง เชิงล่างสุดเป็นสีแดง ซิ่นตีนจกของคหบดีหรือเจ้านายมักสอดดิ้นเงินหรือดิ้นทองให้สวยงามยิ่งขึ้น
                การนุ่งซิ่นและห่มสไบเป็นการแต่งกายที่แพร่หลายในกลุ่มผู้หญิงชาวเหนือแทบทุกกลุ่ม แต่รูปแบบของซิ่นจะแตกต่างกันตามคตินิยมของแต่ละกลุ่ม เช่น ชาวไทลื้อในบริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา และน่าน โดยเฉพาะกลุ่มไทลื้อ จังหวัดน่าน มีแบบแผนการทอผ้าซิ่นและการสร้างลวดลายที่สำคัญ ๓ ประเภท คือ
(ผ้าลายน้ำไหลเมืองน่าน)
                ๑. ลายล้วงหรือเกาะ คือ การสร้างลายด้วยวิธีล้วงด้วยมือ คือใช้เส้นด้ายสีต่างๆ สอดลงไปในเส้นด้ายยืนตามจังหวะที่กำหนดให้เป็นลายคล้ายการสานขัด จากนั้นจะใช้ฟืมกระแทกเส้นด้ายให้สนิทเป็นเนื้อเดียวกัน ผ้าลายล้วงที่มีชือเสียงคือ ผ้าลายน้ำไหล หรือ ผ้าลายน้ำไหลเมืองน่าน ซึ่งเกิดจากการล้วงให้ลายต่อกันเป็นทางยาว เว้นระยะเป็นช่วงๆ คล้ายคลื่น นอกจากผ้าลายล้วงยังมีลายอื่นๆ ที่เรียกชื่อตามลักษณะลาย เช่น ลายใบมีด หรือลายมีดโกน เป็นลายที่เกิดจากการล้วงสอดสีด้ายหลายๆ สีให้ห่างกันเป็นช่วงๆ เหมือนใบมีดบางๆ ลายจรวดมีลักษณะคล้ายจรวดกำลังพุ่ง ลายน้ำไหลสายรุ้งเป็นลายที่พัฒนามาจากลายน้ำไหลโดยคั่นด้วยการสอดสี ลายไส้ปลา เป็นลายที่มีหลายสีคล้ายสีรุ้ง แล้วคั่นด้วยการเก็บมุกชนิดต่างๆ เช่น มุกลายดอกหมาก มุกข้าวลีบ ลายกำปุ้งหรือลายแมงมุม พัฒนาจากการนำลายน้ำไหลมาต่อกันตรงกลาง เติมลายเล็กๆ โดยรอบเป็นขาคล้ายแมงมุม ต่อมาพัฒนาเป็นลายอื่นๆ ได้อีกมาก เช่น ลายดอกไม้ ลายปู ลวดลายที่เกิดขึ้นนี้ล้วนมาจากกรรมวิธีในการล้วงทั้งสิ้น หากแต่ละลายจะดัดแปลงปสมกับกรรมวิธีอื่นเพื่อให้ได้ลวดลายที่ต่างกันออกไป
                ๒.ลายเก็บมุก คือ การสร้างลวดลายด้วยการทอคล้ายกับการเก็บขิดของอีสาน ไม่ได้ล้วงด้วยมือ แต่จะเก็บลายด้วยไม้ไผ่เหลากลมปลายไม่แหลม เมื่อเก็บลายเสร็จแล้วจะสอดเส้นด้ายด้วยไม้เก็บลายชนิดต่างๆ ตามแม่ลายที่จะเก็บ ลายชนิดนี้เรียกชื่อต่างกันไปตามความนิยมท้องถิ่น




(ลายคาดก่าน หรือ มัดก่าน)
                ๓.ลายคาดก่าน หรือ มัดก่าน คือการสร้างลวดลายที่ใช้กรรมวิธีเช่นเดียวกับลายมัดหมี่ การคาด(มัด) ก่อนย้อมจะเป็นตัวกำหนดขนาดของลาย คล้ายลายมัดหมี่ ลายคาดก่านมักประดิษฐ์เป็นลวดลายเล็กๆ ไม่พัฒนาลวดลายเหมือนลายน้ำไหล
                กรรมวิธีในการทอผ้าให้เป็นลวดลายประเภทต่างๆ เหล่านี้ ได้นำมาใช้กับผ้าทอที่ต้องการใช้สอยในลักษณะที่ต่างกันไป โดยเฉพาะซิ่นไทลื้อเมืองน่าน หรือ ซิ่นน่าน มีลวดลายและสีเด่น เพราะทอด้วยไหมเป็นริ้วไหญ่ๆ สลับสีประมาณสามหรือสี่สี ส่วนตีนซิ่นมีสีแดงเป็นแถบใหญ่ ถัดขึ้นไปเป็นสีน้ำเงินหรือม่วงเข้มคั่นด้วยดิ้นเงินหรือดิ้นทอง หรือไหมคำสลับเพื่อให้เกิดความวาวระยับ บางทีแต่ละช่วงจะคั่นด้วยลวดลายให้ดูงดงามยิ่งขึ้น เรียกต่างออกไปตามลักษณะของลาย เช่น ซิ่นป้อง ซิ่นตาเหล็ม ซิ่นล้วง ซิ่นลายน้ำไหล

(ซิ่นป้อง)

 
(ซิ่นล้วง)
                นอกจากนี้ซิ่นชนิดต่างๆ และกรรมวิธีในการสร้างลวดลายประเภทต่างๆ ตามลักษณะพื้นบ้านแล้ว ยังมีผ้าชนิดต่างๆ ที่มีความงดงามสอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอยอีกหลายชนิด เช่น ผ้าแหลบ หรือผ้าหลบ หรือผ้าปูที่นอน ที่นิยมทอเป็นลายทั้งผืนหรือลายเฉพาะบางส่วน เช่น เชิงทอเป็นรูปสัตว์ เช่น ม้า ช้าง หรือดอกไม้เรียงเป็นแถว เชิงล่างปล่อยเส้นฝ้ายลุ่ยหรือถักเป็นเส้นตาข่ายเพื่อความสวยงาม


(ผ้าหลบ)
ผ้าหลบหรือผ้าห่มนี้มักทอเป็นลวดลายเรขาคณิตคล้ายลายขิด ส่วนมากจะทอเป็นผืนเล็กๆ หน้าแคบ เพื่อความสะดวกในการทอก่อน แล้วจึงเย็บผนึกต่อกันเป็นผืน คล้ายกับผ้าห่มหรือผ้าห่มไหล่ของชาวลาว แต่ผ้าหลบนิยมทอตัวลายด้วยสีแดงและดำ ผ้าหลบปละผ้าเก็บมุกที่ใช้การประดิษฐ์ลวดลายด้วยวิธีการนี้ ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ประโยชน์อย่างอื่นด้วย
                นอกเหนือจากการทอผ้าของกลุ่มชนเชื้อสายไทยวนและไทลื้อที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นดังกล่าวแล้ว ในบริเวณภาคเหนือยังมีผ้าที่มีลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ ผ้าย้อมครามหรือสีกรมท่า ย้อมจากต้นครามหรือต้นห้อม เรียก ผ้าหม้อห้อม ใช้สำหรับตัดเย็บเป็นเสื้อและกางเกง ทำกันมากที่ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
(จิตรกรรมวิหารลายคำวัดพระสิงห์แสดงการแต่งกายและวิถีชีวิตชาวล้านนา)
(จิตรกรรมวิหารวัดภูมินทร์  แสดงการแต่งกายของชาวเมือง ผู้หญิงนุ่งซิ่นป้อง ทอลายขิด และผ้าซิ่นมัดก่านลายมัดหมี่หรือคาดก่าน)
                การนุ่งซิ่นและการแต่งกายของชาวล้านนาในอดีตนั้น ปรากฏหลักฐานอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่ง แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ การแต่งกายของชนชั้นสูง และการแต่งกายของสามัญชน การแต่งกายของกษัตริย์ เจ้านายชั้นสูง จะเลียนแบบการแต่งกายของกษัตริย์พม่า โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนังวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ แสดงให้เป็นภาพเจ้าชายและข้าราชบริพารชั้นสูงนุ่งผ้าแบบโจงกระเบนหยักรั้ง ถลกสูงขึ้นไปจนเห็นรอยสักที่ขา ตั้งแต่เข่าขึ้นไปจนถึงต้นขาคล้ายสนับเพลาหรือกางเกง ไม่สวมเสื้อ แต่มีผ้าคล้องคอ ห้อยไหล่ หากสวมเสื้อจะสวมเสื้อคอปิด แขนกระบอก มีทั้งที่โพกผ้าและไม่โพกผ้า ไว้จุก และทำผมเกล้าโน้มมาข้างหน้าอย่างมอญ ส่วนผู้ชายทั่วไปตัดผมเกรียนไล่ขึ้นไปจนถึงกลางศีรษะ แล้วจึงปล่อยผมยามเป็นแผงอยู่กลางศีรษะ
                สตรีชั้นสูงนั้น บางแห่งแต่งกายอย่างชาวกรุงเทพฯ นุ่งซิ่นยาวกรอมเท้า ลายขวางลำตัว ตีนจก ไม่สวมชฎาก็เกล้าผมมวยไว้กลางศีรษะ มีรัดเกี้ยว ปักปิ่น
                สำหรับการแต่งการของชาวบ้านทั่วไปนั้น ผู้ชายจะนุ่งหยักรั้งสูงถึงโคนขาจนเห็นรอยสักที่ขา มีผ้าคาดเอวปล่อยชายห้อยไว้ข้างหน้า บางคนสวมหมวก คงจะเป็นผู้ดีหรือคหบดีที่เริ่มรับอิทธิพลตะวันตกเข้ามาแล้ว
                ส่วนหญิงชาวบ้านทั่วไปที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่งในภาคเหนือ มีรูปแบบของการใช้เครื่องนุ่งห่มที่คล้ายคลึงกันคือ นุ่งซิ่นยาวกรอมเท้า ลายขวางลำตัว มักเป็นซิ่นสีพื้นมีลายสีเข้ม เช่น สีแดง สีส้ม และสีดำเป็นลายขวางสลับเป็นริ้วขวางลำตัว ที่เชิงซิ่นมีทั้งที่เป็นแถบสีส้ม สีแดง เป็นแถบใหญ่ๆ ไม่มีลวดลาย ส่วนที่มีลวดลายจกแบบที่เรียกว่าตีนจกนั้น จะมีเฉพาะสตรีที่มีฐานนะและสตรีชั้นสูงเป็ฯส่วนใหญ่ ผู้หญิงมักไม่สวมเสื้อ แต่มีผ้ารัดอกหรือห่มสไบเฉียง หรือใช้ผ้าคล้องคอห้อยสองชายลงมาข้าหน้า สูบบุหรี่ไชโยมวนโต แต่ก็มีในบางแห่ง เช่น จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน แสดงให้เห็นหญิงสาวผู้ดีสวมเสื้อแขนยามคล้ายเสื้อคลุมสวมทับเสื้อชั้นในอีกทีหนึ่ง คงเป็นการแต่งกายที่รับแบบอย่างมาจากตะวันตก ทรงผมนิยมไว้ผมยาวเกล้าสูงเป็นมวยไว้กลางศีรษะ รัดเกี้ยวมีปิ่นปัก บางทีดัดจอนผมยาวงอน สตรีชั้นสูงนิยมนุ่งซิ่นไหม ลายขวางสอดดิ้นเงินดิ้นทอง เชิงซิ่นเป็นลวดลายจก แต่ถ้าเป็นโอกาสพิเศษจะนุ่งตีนจก ส่วนการสวมเสื้อแทนผ้ารัดอกหรือผ้าสไบคงเกิดขึ้นภายหลังตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
                นอกจากการทอผ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มแล้ว ในภาคเหนือยังทอผ้าสำหรับใช้สอยอีกหลายอย่าง เช่นผ้าหลบ ผ้าแซงแดง ผ้าแซงดำ ผ้าแหล็บ ผ้ากั้ง ผ้ามุ้ง ผ้าขาวม้า ผ้าล้อ ผ้าปกหัวนาค ย่าม ผ้าห่ม ฯลฯ
(ผ้ากั้งไทแดง แขวงหัวพัน ประเทศลาว ใชักั้นประตู)
                ผ้าพื้นบ้านภาคเหนืออีกประเภทหนึ่งเป็นผ้าที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อ ขนบประเพณีของกลุ่มชน เช่น ผ้าสำหรับนุ่งห่มหรือใช้ในงานทำบุญ งานนักขัตฤกษ์ ได้แก่ ตุง หรือธงที่ใช้ในประเพณีต่างๆ เช่น ตุงไจ ตุงสามหาง
(ตุง)
                ปัจจุบันการทอผ้าพื้นบ้านในภาคเหนือยังทอกันอยู่ในหลายท้องถิ่น เช่น ในบริเวณอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน อำเภอสันกำแพง อำเภอแม่แตง อำเภอแม่อาย อำเภอฮอด อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และในหลายอำเภอของจังหวัดลำปาง โดยเฉพาะผ้าฝ้ายทอมือของบ้านไร่ไผ่งาม ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาจากกรรมวิธีพื้นบ้านโบราณหลายอย่าง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทอผ้าอีกหลายกลุ่มกระจายอยู่หลายจังหวัด เช่น กลุ่มทอผ้าอำเภอลอง จังหวัดแพร่ กลุ่มทอผ้าไทลื้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

(ซิ่นกะเหรี่ยง)
                ผ้าพื้นเมืองภาคเหนืออีกประเภทหนึ่ง คือ ผ้าทอมือกลุ่มน้อย เช่น ผ้าทอของชาวกะเหรี่ยง ไทใหญ่ และผ้าทอของชาวเขาเผ่าต่างๆ เช่น ม้ง เย้า มูเซอ ผ้าทอเปล่านี้จะมีรูปแบบและกรรมวิธีในการทอที่แตกต่างกันไป ตามคตินิยมและขนบประเพณีที่สืบทอดกันมาในกลุ่มของตน เช่น ผ้ากะเหรี่ยง นิยมทอลายขวางเป็นชิ้นเล็กๆ สีแดงและดำ เมื่อนำมาทอเครื่องนุ่งห่มจะเย็บต่อกันจนมีขนาดตามความต้องการ ส่วนชาวไทยภูเขานั้นมีกรรมวิธีในการทอผ้าต่างออกไป มักหน้าแคบ ตกแต่งเป็นลวดลายด้วยการปัก ประดับเครื่องเงิน ลูกปัด เพื่อเพิ่มสีสันให้งดงามยิ่งขึ้น


Thank everybody