ผ้าไหมภาคใต้



Thai Silk south.

ผ้าไทยภาคใต้
ผ้าพื้นบ้านภาคใต้
                ผ้าที่ทอในบริเวณดินแดนภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปจรดเขตประเทศมาเลเซีย ที่มีความยาวของพื้นที่ประมาณ ๗๕๐ กิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นแผ่นดินแคบและคาบสมุทร ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกทอดไปตามอ่าวไทย ได้แก่ บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส จากชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกขึ้นไปทางด้านทิศตะวันตกบนผืนแผ่นดินมีเทือกเขาสำคัญที่เป็นสันของคาบสมุทร ได้แก่ เทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นเทือกเขาที่ต่อเชื่อมมาจากเทือกเขาหิมาลัย ทอดยาวลงไปจนถึงเขตจังหวัดกระบี่ ต่อลงไปเป็นเทือกเขานครศรีธรรมราช และเทือกเขาสันกาลาคีรีทอดยาวลงไปจนสุดเขตประเทศไทย เทือกเขาเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำสำคัญๆ ของภาคใต้ที่ไหลจากทิศตะวันตกผ่านที่ราบไปสู่ทะเลด้านทิศตะวันออก ทำให้เกิดปากแม่น้ำเป็นอ่าวสำหรับจอดเรือเพื่อการคมมนาคมและท่าเรือประมงได้เป็นอย่างดี เช่น อ่าวชุมพร อ่าวบ้านดอน และอ่าวสงขลา นอกจากนี้แม่น้ำเหล่านี้ยังนำความชุ่มชื้นไปสู่บริเวณภาคใต้ ทำให้เกิดอาชีพเกษตรกรรมในที่ราบผืนแผ่นดิน ทั้งยังนำโคลนตมไปทับถมกันในบริเวณปากแม่น้ำ ผสานเข้ากับทรายที่เกิดจากการพัดเข้าหาฝั่งของคลื่นลมจากทิศตะวันออก ทำให้เกิดสันทรายที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกและการตั้งถิ่นฐาน จึงทำให้เกิดชุมชนตลอดแนวชายผั่งมาแต่โบราณ
                บริเวณด้านทิศตะวันตกของภาคใต้มีลักษณะตรงกันข้ามกับฝั่งตะวันออก เพราะอยู่ใกล้เทือกเขา ทำให้ลักษณะภูมิประเทศลุ่มๆ ดอนๆ สูงๆ ต่ำๆ มีที่ราบน้อย ชายฝั่งทะเลเว้าแหว่งมาก เพราะคลื่นลมจัดจีงมีแรงกัดเซาะแผ่นดินสูง พื้นที่เกษตรกรรมมีน้อย ไม่เหมาะแก่การตั้งชุมชนเกษตรกรรม แต่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกเป็นแหล่งทรัพยากรแร่ธาตุที่สำคัญ จึงเกิดชุมชนที่ประกอบอาชีพด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่และประมง บริเวณชายฝั่งทะเล ด้านนี้ติดต่อกับมหาสมุทรอินเดีย ชาวจีนจึงอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำให้เกิดชุมชนใหม่ๆ เกิดการผสมผสานกันระหว่างพ่อค้าต่างชาติและชนพื้นเมือง
                ลักษณะภูมิประเทศดังกล่าวทำให้การตั้งชุมชนทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกต่างกัน ทางด้านตะวันออกเป็นชมเกษตรกรรมและประมง ส่วนทางด้านตะวันตกมักมีอาชีพทำประมง ทำไร่เลื่อนลอย มักเป็นชุมชนเล็กๆ ก่อน ต่อมามีพ่อค้าต่างชาติเข้ามาทำการค้าและเหมืองแร่ จึงขยายเป็นชุมชนใหญ่ เช่น ชุมชนในเขตจังหวัดระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง และสตูล ส่วนบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ จึงมีการตั้งชุมชนที่มีอารยะธรรมสูงมาแต่โบราณ นักโบราณคดีเชื่อว่าตั้งแต่บริเวณอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฏร์ธานี ลงไปจนถึงบริเวณรอบทะเลสาบสงขลา ในเขตจังหวัดสงขลา เป็นดินแดนที่เคยเป็นเมืองและชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยทวารวดีจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ถึงสมัยอยุธยาต่อเชื่อมลงมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะบริเวณเมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเมืองนครศรีธรรมราช เคยเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีต แม้ปัจจุบันยังปรากฏร่องรอยทางศิลปะโบราณวัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก
                ในสมัยรัตนโกสินทร์ บริเวณภาคใต้ทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก รวมเรียกว่า หัวเมืองปักษ์ใต้เป็นบริเวณที่มีความสำคัญเช่นเดียวกับหัวเมืองอื่นๆ ซ้ำยังเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่ต้องการของนักล่าอาณานิคมชาวตะวันตก เช่น ยุคต้นรัตนโกสินทร์ อังกฤษพยายามเข้ามาขอเช่าแกมบังคับเกาะปีนังหรือเกาะหมาก จนเกิดกรณีพิพาทกันขึ้น ทำให้หัวเมืองปักษ์ใต้มีความสำคัญยิ่งขึ้น ในแง่ที่เป็นเมืองหน้าด่านของไทยที่คอยดูแลเมืองอื่นๆ ที่เป็นประเทศราชที่มิใช่ชนเชื้อชาติไทย และรับผลกระทบจากการกระทบกระทั่งกับชาติตะวันตก ที่พยายามเข้ามามีอิทธิพลในบริเวณนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงภัยจากประเทศตะวันตก จึงเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ถึงสองครั้ง คือ พ.ศ. ๒๔๐๒ และพ.ศ. ๒๔๐๖ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างหัวเมืองปักษ์ใต้และกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น พร้อมกับทรงจัดระบบการปกครองหัวเมืองเหล่านั้นเสียใหม่ โดยลดอำนาจลง ให้ความรับผิดชอบและอำนาจเด็ดขาดต่างๆ ขึ้นอยู่กับกรุงเทพฯ และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิรูปการปกครองหัวเมืองต่างๆ ให้ยกเลิกฐานะเจ้าพระยามหานครของปักษ์ใต้แล้วกระจายหัวเมืองมาเป็นมณฑล ได้แก่ มณฑลภูเก็ต มณฑลชุมพร (สุราษฎร์ธานี) มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลปัตตานี มณฑลเหล่านี้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ต่อมามณฑลต่างๆ ถูกลดฐานะเป็นจังหวัดหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในพ.ศ. ๒๔๗๕
                ลักษณะทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ความเป็นมาของภาคใต้ดังกล่าว เป็นรากฐานทางวัฒนธรรมทางหนึ่ง อีกทางหนึ่งเกิดจากการติดต่อค้าขายกับชาติที่เจริญแล้ว เช่น จีน อินเดีย และอาหรับ ชาติเหล่านี้ได้นำอารยธรรมของตนเข้ามาพร้อมกับการค้าขาย จึงเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมจีนและอินเดียที่ผสมกับวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง วัฒนธรรมจีนผสมวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองเชื้อสายมาเลย์อย่างที่เรียกว่า วัฒนธรรมบ้าบ๋า เป็นต้น
                อีกทางหนึ่งเกิดขึ้นจากผลของการเคลื่อนย้ายแลกเปลี่ยนประชากรและชุมชนด้วยเหตุผลทางการเมือง เช่น พ.ศ. ๒๓๕๔ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชไปกวาดต้อนครอบครัวเชลยชาวไทรบุรีมาไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีช่างฝีมือหลายประเภทปะปนมาด้วย เช่น ช่างทอง ช่างเงิน ช่างเครื่องประดับ รวมทั้งช่างทอผ้าด้วย โดยให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณเมืองนครศรีธรรมราช ช่างเหล่านี้ได้ประกอบอาชีพของตน และเผยแพร่วิชาช่างให้กับคนพื้นเมืองจนแพร่หลายสืบต่อมาจนทุกวันนี้ เช่น การทำเครื่องถม การทอผ้ายก เป็นต้น
                การเคลื่อนย้ายผู้คนด้วยเหตุผลทางการเมือง ไม่เฉพาะแต่การเคลื่อนย้ายชาวมุสลิม เชื้อสายมาเลย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้เท่านั้น หากแต่มีการย้ายครอบครัวชาวไทยบางส่วนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนซึ่งแต่เดิมเป็นของไทยด้วย เช่น ชุมชนชาวไทยที่ถูกอพยพเข้าไปอยู่ในกลันตันและไทรบุรี
                ลักษณะเช่นนี้นอกจากทำให้เกิดการผสมผสานกันระหว่างเชื้อชาติแล้ว ยังก่อให้เกิดการผสมผสานดันด้านวัฒนธรรมด้วย โดยเฉพาะวัฒนธรรมการทอผ้าของปักษ์ใต้ ส่วนหนึ่งจะเริ่มต้นขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช ก่อนที่จะกระจายไปสู่ที่อื่นๆ การทอผ้าที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้นกล่าวกันว่า เริ่มตั้งแต่สมัยเจ้าพระยานครศรีธรรมราชยกทัพไปปราบขบถเมืองไทรบุรี แล้วกวาดต้อนเชลยเข้ามาไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช ชาวไทรบุรีได้สอนการทอผ้ายกให้เด็กสาวและลูกหลานของกรมการเมือง ตลอดจนชาวบ้านที่สนใจ กล่าวกันว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ให้ความสนใจการทอผ้ามาก จนถึงขั้นเคยมีเรื่องหมางใจกับเจ้าเมืองสงขลาในปีพ.ศ. ๒๓๒๐ เพราะเจ้าพระยานครศรีธรรมราชสั่งให้กรมการเมืองออกไปเกณฑ์เอาช่างทอผ้าซึ่งเป็นบุตรสาวของกรมการเมืองสงขลา และบุตรสาวของราษฎรเมืองสงขลาเข้ามาไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ เจ้าเมืองสงขลาไม่พอใจ จึงกราบบังคมทูลฟ้องพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราชใช้อำนาจกับชาวเมืองสงขลาเกินขอบเขต
                เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การทอผ้าที่เมืองนครศรีธรรมราชได้เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี แล้วสืบต่อมาเรื่อยๆ จากการทอผ้ายกสำหรับใช้ในหมู่เจ้าเมือง และกรมการเมืองชั้นสูงก่อนที่แพร่หลายไปสู่ชาวเมืองและประชาชนทั่วไป
                ผ้ายกนครศรีธรรมราช หรือ ผ้ายกเมืองนครฯ โดยเฉพาะผ้ายกทองเป็นผ้าที่มีชื่อเสียงมากในสมัยโบราณ ผ้าทอพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงของภาคใต้อีกประเภทหนึ่งคือ ผ้าทอพุมเรียง ที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ห่างจากตัวอำเภอไชยาไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๖ กิโลเมตร ประชาชนในตำบลพุมเรียงนั้นมีทั้งที่นับถือพุทธศาสนาและศาสนาอิสลาม เฉพาะกลุ่มที่ทอผ้านั้นส่วนมากเป็นไทยมุสลิม กล่าวกันว่าถูกกวาดต้อนมาจากไทรบุรีคราวเดียวกับพวกช่างทองและช่างทอผ้าที่เมืองนครศรีธรรมราช การทอผ้าที่พุมเรียงนั้นแต่เดิมคงจะเป็นการทอผ้าขึ้นใช้ในครัวเรือนและกลุ่มชนของตน
                บริเวณพื้นที่ชายผั่งทะเลด้านตะวันตกของภาคใต้เป็นบริเวณที่มีวัฒนธรรมผสมกันระหว่างพ่อค้าต่างชาติและคนพื้นเมือง โดยเฉพาะชาวจีนที่เข้ามาทำมาหากิน ตั้งถิ่นฐาน ทำเหมืองแร่และเกษตรกรรม บริเวณจังหวัดตรังเป็นบริเวณหนึ่งที่มีการตั้งถิ่นฐานของชาวจีน การเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ของประชาชนแต่ละกลุ่มนั้นมักจะนำวิชาชีพที่ตนมีความชำนาญติดตัวไปด้วยเสมอ จนเมื่อตั้งถิ่นฐานได้อย่างมั่นคงแล้วก็จะประกอบอาชีพและทำงานที่ตนถนัดขึ้นในกลุ่มของตน รวมทั้งการทอผ้าด้วย เช่น ผ้าบ้านนาหมื่นศรี ผ้าเกาะยอ
ผ้าบ้านนาหมื่นศรี
ผ้าเกาะยอ


Thank everybody

ผ้ายกพุมเรียง
                นอกจากผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เช่น ผ้ายกนครศรีธรรมราช ผ้าพุมเรียง ผ้าบ้านนาหมื่นศรี ผ้าเกาะยอ ยังมีผ้าพื้นบ้านที่ได้รับการส่งเสริมให้ทอขึ้นใหม่ในหลายจังหวัด เช่น ในจังหวัดพัทลุง กระบี่ ยะลา และปัตตานี  ซึ่งเคยเป็นแหล่งทอผ้ายกที่มีชื่อเสียง เช่น ผ้ายกปัตตานี ผ้าจวนตานี ที่มีชื่อเสียง จนถึงการทำผ้าปาเต๊ะในจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันการทอผ้าพื้นบ้านเหล่านี้กำลังได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ เพราะเป็นผ้าที่มีลักษณะพิเศษที่ไม่สามารถผลิตได้ในโรงงานอุตสาหกรรม หากแต่ต้องใช้ช่างทอผ้าพื้นบ้านที่มีฝีมือเท่านั้น